THAI REAL ESTATE
BUSINESS SCHOOL
Eng
Thai
โรงแรมทั่วโลกเทคโอเวอร์ จะรู้มูลค่าประเมินค่าได้อย่างไร??
ดูทั้งหมด Post: 31 ตุลาคม 2023
Share via
   

โรงแรมทั่วโลกเทคโอเวอร์ จะรู้มูลค่าประเมินค่าได้อย่างไร??

 

Evaluate the hotel

 

ช่วงที่การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวนักลงทุนหลายๆท่านคงเริ่มกลับมาสนใจธุรกิจโรงแรมมากขึ้นอีกครั้ง วันนี้ โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย จะมาอธิบายเรื่อง “การประเมินค่าโรงแรม” เพื่อเป็นความรู้ให้กับนักลงทุนว่า หากต้องการที่จะเข้าซื้อกิจการหรือเรียกอีกอย่างว่าการเทคโอเวอร์โรงแรมนั้น จะสามารถทำได้อย่างไร โดยหลักการประเมินดังกล่าวนี้เป็นหลักที่ใช้ได้กับโรงแรมทั่วโลกเลย 

 

ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าโรงแรมที่เราต้องการจะไปเทคโอเวอร์ ร่วมทุน ควบรวมกิจการ หรืออื่นๆ เป็นต้น ว่าเป็นโรงแรมประเภทไหน เป็นโรงแรมเพื่อการพักผ่อน (resort hotel) โรงแรมหรูหรา (luxury hotel) โรงแรมจัดประชุม (convention hotel) โรงเตี๊ยม (limited services hotel) หรือโรงแรมเช่ายาว โรงเรียนฯ จึงรวบรวมข้อมูลมาให้ดังต่อไปนี้:

 

  1. อัตราการครอบครองห้องพักของโรงแรมแห่งนี้ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอัตราดังกล่าว สถานะของโรงแรมที่จะประเมินโดยเปรียบเทียบ

  2. ข้อมูลทางการเงิน โดยเปรียบเทียบแต่อดีต เช่นระยะเวลา 10 ปี รายได้จากส่วนต่าง ๆ เช่น ห้องพัก อาหาร-เครื่องดื่ม (F & B: food and beverage) รายได้อื่น ๆ รวมทั้งรายจ่ายเพื่อการบำรุงรักษา พลังงาน ภาษีและค่าดำเนินการอื่น

  3. แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของโรงแรมนี้โดยเปรียบเทียบ การวิเคราะห์ความเสี่ยง การวิคราะห์ความสามารถของเจ้าของและคณะผู้บริหาร

  4. ข้อมูลการซื้อ-ขาย-เช่าโรงแรมในบริเวณใกล้เคียง

  5. ข้อมูลต้นทุนค่าก่อสร้าง ตกแต่ง ร่วมทั้งค่าที่ดิน

  6. ข้อมูลภาวะตลาดท่องเที่ยวระดับเมือง ภาค ประเทศและภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง

  7. ข้อมูลเปรียบเทียบการดำเนินกิจการโรงแรมในเมือง ภาค ประเทศและภูมิภาคใกล้เคียง

 

ในทางปฏิบัติ แม้ข้อมูลการซื้อขายจะหาได้ยาก แต่ก็ต้องพยายามหาเพื่อใช้เป็นข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนและมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งอีกอย่างที่สำคัญคือการเปรียบเทียบระหว่างโรงแรมต่าง ๆ ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ กลุ่มบุคคลหนึ่งที่สามารถจะช่วยให้ความรู้ได้ก็คือผู้บริหารโรงแรมต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นผู้รู้ในวงการ (industrial expert) และรู้ดีในเรื่องของภาวะตลาด คู่แข่งและทิศทางในอนาคต ยิ่งกว่านั้น ผู้ประเมินยังต้อง “ทำความสะอาด” ข้อมูลที่ได้ทั้งจากภายในและภายนอกโรงแรมที่ประเมินให้ดีเพื่อว่า จะได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ อันจะนำไปสู่การวิเคราะห์ที่เชื่อถือได้ต่อไป

 

Real estate valuation

 

ขั้นตอนการดำเนินการ สามารถสรุปได้ดังนี้

  1. การประเมินสถานะและสถานการณ์ตลาดของโรงแรมที่จะประเมินเชิงเปรียบเทียบว่าอยู่ในห้วงไหนของวัฏจักรชีวิตธุรกิจ เพื่อใช้พิจารณาการประมาณการกระแสรายได้ ระยะเวลาการรับรู้รายได้ และความผันแปรในอนาคต

  2. การวิเคราะห์ทำเลที่ตั้ง (ถนน ทางเข้า การเข้าถึง การมองเห็น ที่จอดรถ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ผังเมือง) เพื่อการกำหนดความอ่อนไหว (sensitivity) ของรายได้ในอนาคต

  3. วิเคราะห์รายได้สุทธิ ด้วยการศึกษาเกี่ยวกับกระแสรายได้จากทุกแหล่ง ค่าใช้จ่าย อัตราว่าง ค่าบำรุงรักษา ฯลฯ ซึ่งเป็นรายการที่สมควรทั้งหมด รายได้สุทธินี้อาจเป็น ณ ปีหนึ่ง หรือเป็นการประมาณการกระแสรายได้ก็ได้

  4. ประมาณการอัตราผลตอบแทนจากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา ประกอบกับการประมาณการความอ่อนไหวในอนาคต

  5. ดำเนินการวิเคราะห์มูลค่าตามวิธีการแปลงรายได้เป็นมูลค่า (income approach to value) ซึ่งหากนำมาวิเคราะห์โดยตรง (direct capitalization approach) ก็คือการใช้วิเคราะห์ตามสูตรพื้นฐาน คือ มูลค่า = รายได้สุทธิ หารด้วยอัตราผลตอบแทน หรือ เพื่อการวิเคราะห์ตามกระแสเงินสดในระยะยาว (DCF: discounted cashflow)พร้อมด้วยสมมติฐานต่าง ๆ

  6. ความจริงอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ก็ควรใช้วิธีการแปลงรายได้เป็นมูลค่าเป็นสำคัญ แต่เพื่อการเปรียบเทียบผล การทบทวนมูลค่าที่ประเมินได้และอาจนำไปสู่การปรับปรุงตัวเลขที่วิเคราะห์ได้ ก็ควรทำการประเมินด้วยวิธีการเปรียบเทียบตลาด (market approach to value) และการประเมินโดยวิธีต้นทุน (cost approach to value) ด้วย

 

ข้อสังเกตุ:

  1. อัตราผลตอบแทนในการลงทุนโรงแรม สามารถหาได้จาก “สรุปอัตราผลตอบแทนในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ปี 2566 (https://t.ly/mye8c) ซึ่งจัดทำทุกปีโดยมูลนิธิประเมินค่า-นายหน้าแห่งประเทศไทย เพียงแต่ในช่วงโควิด-19 (พ.ศ.2563-2565) ไม่ได้กำหนดอัตราผลตอบแทนไว้ ทั้งนี้โดยที่ปี 2566 สถานการณ์ฟื้นคืนและจะได้กำหนดอีกครั้งในสิ้นปี 2566 นี้ ดังนั้นจึงอาจอนุโลมใช้อัตราผลตอบแทนในปี 2562 ไปพลางก่อน หรืออาจวิเคราะห์จากการสำรวจตลาด การการวิจัยเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงแรมแต่ละแห่ง เป็นต้น

  2. การวิเคราะห์ด้วย DCF นั้น มักใช้สำหรับโรงแรมใหม่ๆ ที่รายได้ยังไม่เสถียรเป็นสำคัญ แต่ถ้าเป็นในกรณีโรงแรมที่ดำเนินการตามปกติอยู่แล้ว ก็อาจใช้วิธี Direct Capitalization ได้เลย โดยใช้รายได้หารด้วยอัตราผลตอบแทนในการลงทุน และระยะเวลาที่จะเก็บกินได้ เช่น โรงแรมนี้ยังสามารถเก็บกินได้อีก 40 ปี ปีหนึ่งก็มีอัตราค่าเสื่อมที่ 2.5% บวกกับอัตราผลตอบแทนที่ 7% (แล้วแต่กรณี) และอาจบวกด้วยความเสี่ยง ซึ่งแล้วแต่ในแต่ละทำเล ประเภทโรงแรม เป็นต้น

  3. ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ราคา รายได้ อัตราผลตอบแทน ยังสามารถหาเปรียบเทียบได้ตามแหล่งข้อมูลออนไลน์ต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการประเมินค่าทรัพย์สิน ยิ่งในกรณีโรงแรมของเราอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เราอาจต้องซื้อชุดข้อมูลจาแหล่งที่น่าเชื่อถือในต่างประเทศ ซึ่งมีอยู่หลายแหล่ง โดยมีค่าใช้จ่ายในการซื้อข้อมูลอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

 

AP100

 

สำหรับโรงแรมที่เราต้องการไปเทคโอเวอร์มาแต่ถูกเวนคืนขึ้นมานั้น ก็จำเป็นจะต้องได้ค่าทดแทน และมาดูภาครัฐควรจะจ่ายค่าทดแทนการเวนคืนอย่างไรบ้าง ดังนี้

 

1. ราคาโรงแรมในส่วนที่เสียไปตามราคาตลาด สิ่งแรกที่เราพึงได้ก็คือค่าทดแทนตามราคาตลาด (Market Price) ทั้งนี้เพื่อความพึงพอใจของผู้ถูกเวนคืน

 

2. ความด้อยค่าของอสังหาริมทรัพย์ในส่วนที่เหลือจากการเวนคืน (Severance Damage) ในการเวนคืนถ้าเวนคืนทั้งผืน ทั้งแปลง ก็จบไป แต่ถ้าทำให้ทรัพย์สินส่วนที่เหลืออยู่เสียหาย เช่น

  • เวนคืนแล้วที่ดินเหลือเป็นสามเหลี่ยมชายธง ทำธุรกิจโรงแรมไม่ได้ ส่วนที่เหลือรัฐก็พึงซื้อหรือเวนคืนไปด้วย

  • พอเวนคืนแล้วที่ดินส่วนลึกของที่ดินตื้นเกินไป เมื่อจะก่อสร้างก็มีข้อบังคับเรื่องระยะร่น ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างอาคารต่างๆ ได้เท่าที่ควร เป็นต้น

 

กรณีตัวอย่างเช่น ที่ดินโรงแรมแต่เดิมเป็นแปลงใหญ่ 1,000 ตารางวา มีราคา 1,000 ล้านบาท แต่พอเวนคืนไปครึ่งหนึ่งเหลือ 500 ตารางวา ราคาที่ดินคงไม่ใช่เหลือแค่ 500 ล้าน อาจทำให้ราคาต่ำกว่าที่จะเป็นเหลือเพียง 400 ล้าน ค่าทดแทนจึงไม่ใช่เพียงแค่ 500 ล้าน แต่คงเป็น 600 ล้านบาท เป็นต้น

 

3. ค่าทดแทนความเสื่อมค่าหรือเสื่อมราคาลงทั้งนี้เป็นผลจากการรบกวนสิทธิ (Depreciation and Actionable Nuisance) ถือเป็นค่าทดแทนความเสียหายที่บุคคลได้รับโดยตรงทั้งนี้เป็นผลเนื่องจากการเวนคืนที่ดินที่หรืออาจเรียกว่า Injurious Affection เช่น โรงแรมถูกเวนคืนทำทางด่วน มีเสียงรบกวนตลอดเวลา ผู้ที่ถูกเวนคืนก็ควรได้รับค่าทดแทนเช่นกัน


4. ผลกระทบทางลบของการเวนคืนต่อเจ้าของทรัพย์สิน (Disturbance) เช่น การเสียค่าขนย้าย การสูญเสียทำเลการค้า เป็นต้น ดูอย่างการก่อสร้างสะพานพระปกเกล้า ทำให้ตึกแถววัดประยูรวงศาวาสเสียทำเลการค้าไปอย่างเด่นชัด ก็พึงมีการจ่ายค่าทดแทนเช่นกัน

 

ดังนั้น ในการประเมินค่าโรงแรมเพื่อการเทคโอเวอร์ จึงต้องคิดหลายทางเพื่อประกอบความมั่นใจในการลงทุนเพราะมีในเรื่องของการเปรียบเทียบกับที่อื่นๆซึ่งมีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก ดังนั้น โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย เป็นสถาบันอบรมด้านอสังหาฯ ระดับนานาชาติที่มีหลักสูตรด้านอสังหาฯที่ครอบคลุมที่สุดแห่งหนึ่ง จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำประเมินค่าอสังหาฯจึงได้เปิด หลักสูตร ประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ ทั้งรูปแบบระยะสั้น และระยะยาว

 

Trebs

 

สามารถติดต่อและสอบถามบริการ TREBS (อบรม-สัมมนา) และ AREA (ประเมิน-วิจัย)
โทร: 02-295-3905 ต่อ 114 (คุณสัญชัย)
Email: lek2@area.co.th
Line ID : @trebs หรือคลิก https://line.me/R/ti/p/%40tfw7135e


ขอขอบคุณ: AREA แถลง ฉบับที่ 878/2566: วันพุธที่ 18 ตุลาคม 2566